Wednesday, March 28, 2012

"Can Cau" ตลาดวัฒนธรรมของม้งดอกไม้ที่ "Bac Ha" ประเทศเวียดนาม

 บทความท่องเที่ยวนี้ปรับชื่อเรื่องจากชื่อเรื่อง "ตลาดวัฒนธรรมชนเผ่าที่ "บั๊ค ฮา" (Bac Ha) ประเทศเวียดนาม นำมาดัดแปลงชื่อเรื่องนิดหน่อย เนื่องจากกำลังจะไปอีกครั้ง จึงโหยหาอดีตเอาบทความที่เคยเขียนไว้และถูกตีพิมพ์ไปแล้วเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วในนิตยสารท่องเที่ยว เลยนำกลับมา rewrite อีก

บั๊ค ฮา เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับชายแดนของประเทศจีนด้วย เนื่องจากความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 เมตร ทำให้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี มีประชากรราว ๆ 70,200 คน และเป็นแหล่งที่ประชากรส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกด้วย และตอนนี้ก็ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกจากเมืองซาปาไปแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะเคยไปท่องเที่ยวที่ซาปา และเคยได้ยินชื่อมาบ้างแล้ว ด้วยความที่เป็นเมืองวัฒนธรรมที่ยังงดงามของชาวบ้าน จึงสามารถเป็นแรงจูงใจให้คนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างเดินทางมาเพื่อเรียนรู้ ชื่นชมหรือหาประสบการณ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากโรงแรมและเกสเฮาส์ที่กำลังเปิดตัวหลายแห่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยการมาเที่ยวที่บั๊ค ฮานั้น ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะซื้อทัวร์มาเป็นแพ็คเกจทัวร์ซึ่งมีอยู่มากมายตั้งแต่ราคา 10 ดอลลาร์ต่อคน ขึ้นไป (อันนี้ต้องดูดี ๆ เรื่องราคาถ้าไม่มีปากมีเสียงราคาอาจจะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ) โดยส่วนมากทัวร์จะโฆษณาชวนเชื่อ แบบว่าพาไปถึง 3 ตลาด ก็จะทำให้เรางงว่าทำไมวันเดียวจึงพาไปเที่ยว 3 ตลาด ซึ่งก็มีตลาดแคนเคา ตลาดค็อคลี และตลาดบั๊ค ฮา แต่จริง ๆ แล้ว ชื่อตลาดเหล่านี้ที่กล่าวมาก็คือตลาดเดียวกันนั่นเอง ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากงงไปตาม ๆ กัน แต่ในที่นี่ขอเรียกตลาด แคนเคา แต่ก็ไม่สำคัญเท่า เมื่อมาถึงตลาดวัฒนะรรมชนเผ่าที่ดูสะดุดตานักท่องเที่ยวนี้ก็จะลืมเรื่องที่ชวนงงของ 3 ตลาดในทันที

เมื่อก่อนวันรอาทิตย์จะเป็นวันที่มีสีสันที่สุดในรอบสัปดาห์ของตลาด แต่เดี๋ยวนี้ตลาดจะเปิดทุกวันเสาร์ หรือบางครั้งก็เปิดทั้งสองวัน (ไม่ได้ไปนานแล้ว) เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ จะเดินทางลงมาจากเขาเพื่อเลือกซื้อข้างของไปใช้ โดยวิธีการใช้ม้าเป็นพาหนะ ซึ่งสามารถเห็นลานจอดม้าอยู่ทางเหนือของตลาดได้เลย ซึ่งจะคล้าย ๆ กับลานจอดรถของคนเทืองเลยทีเดียว(ประหยัดน้ำมันอีกต่างหาก) รวมถึงมีรูปแบบการใช้งานม้าที่หลากหลาย มีทั้งแบบรถลากเลื่อนใช้งานได้เยอะ และนั่งแบบส่วนบุคคล ทำให้เชื่อกันไหมว่า ชาวเขาที่เดินทางด้วยม้าลงมาขายของและมาซื้อของกลับหมู่บ้าน จูงวัวจูงม้ามาประมูลกันไป-กลับใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงในการเดินทาง (ทรหดมาก) ส่วนทางเข้าตลาดอยู่บริเวณสี่แยก เมื่อเดินเข้าไปข้างในจะมีสินค้าร้านจำหน่ายของต่าง ๆ มากมายทั้งที่เป็นของนำเข้ามาขายกันเองและของที่คนเมืองจำมาจำหน่าย

สินค้าที่น่าเลือกซื้อมากที่สุดคงจะเป็นผ้าทอมือ ซึ่งมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์มาก และมีจำหน่ายอยู่หลายร้าน ส่วนร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็น เฝอหรือก๋วยเตี๋ยว ที่สามารถสั่งให้ใส่กับอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม เครื่องในหมู เป็นต้น ราคาก็ไม่แพงและมีให้เลือกกินหลายร้าน จำพวกขนมก็มีให้ชิมกันหลายแบบ ซึ่งรสชาติก็เข้าท่าไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ตามซอยก็จะมีร้านเหล้ากลั่นของหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาให้เลือก ซึ่งเมืองบั๊ค ฮา เป็นเสมือนโรงงานผลิตสุรากลั่นขนาดย่อม เพราะว่ามีจำหน่ายกันอย่างมโหฬาร ทั้งเหล้าข้าวเหนียว เหล้าข้าวโพด แม้กระทั่งมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่จะรสชาติดี กลิ่นหอม แต่ดีกรีก็แรงมากถึงมากที่สุด เพียงสองสามจิบอ่าจจะถึงกับล้มตึง(ตามความสามารถของผู้กิน) ราคาก็ไม่แพงมาก หากให้เดินชิมจริง ๆ ก็มีให้ลิ้มลองมากมาย และรับประกันว่าหากได้ชิมไปถึงกลางซอยต้องเดินเซอย่างแน่นอน(เพราะเคยเซมาแล้ว) อีกอย่างที่พลาดไม่ได้ในเรื่องของการเดินตลาดสดในเวียดนาม ก็คือ "ผัก" เพราะคนเมืองนี้รับประทานผักเก่งมาก และยังมีผักคุณภาพดีอีกมากมายอีกด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวเขานำผักสวนครัวมาขายกัน แม้จะคนละไม่เยอะแต่พอมารวม ๆ กันก็มากมายมหาศาลเลยทีเดียว ทั้งนี้ยังมีผลไม้อีกหลายชนิดที่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจสุดน่าจะเป็น "อ้อย" เพราะส่วนใหญ่จะเห็นถือกันคนละลำ ๆ พอเห็นภาพเด็ก ๆ ยินแทะอ้อยกันเยอะ ๆไ ก็ดูน่ารักดีจริง ๆ (ฟันแข็งแรงกันจัง"

เมื่อชมตลาดชาวบ้านแล้ว การแต่งกายแบบประจำกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองจะมีสีสันโดดเด่นสะดุดตา จนทำให้มีฉายาจากนักท่องเที่ยวเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เรียกว่า "ม้งดอกไม้" หรือ "Flowery Hmong" ภายในบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านเหมาะสมอย่างยิ่งที่นักเดินทางควรสัมผัสกับวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยระยะทางราว ๆ 3 กิโลเมตร ซึ่งจะผ่านชั้นบันไดสวย ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวันอากาศดี ๆ สามารถเลือกมุมถ่ายรูปสวย ๆ ได้เยอะเลยทีเดียว ซึ่งจากความงดงามของวิถีชีวิตแบบกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ตลาด แคนเคา มีชื่อเสียงไปไกลทุกมุมโลก จนนักเดินทางหลายคน(รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ต้องมีที่นี่เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางในการมาเยือนภาคเหนือของเวียกนาม ซึ่งวัฒนธรรมที่งดงามเหล่านี้คงอยู่ไปอีกนาน เพราะมันได้กลายวัฒนธรรมสินค้าที่ดึงดูดนักท้องเที่ยวและเชิญชวนให้มาเยือนอีกมากมาย เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงหรือรื้อฟื้นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองขึ้นมากในรูปแบบใดที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนในอิ่มเอมใจกลับไป ฉะนั้นความสวยงามที่ถูกคาดหวังที่จะดำรงอยู่ได้นาน อาจจะมีการปรับตัวและเปลียนแปลงเพื่อให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมในปัจจุบัน

ความรู้สึกของผู้เขียนกับการมาเยือนตลาดแห่งนี้ครั้งแรกในสายตาของนักท่องเที่ยว ถือว่าเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจในฐานะสายตาของคนนอก เมื่อกาลเวลาผ่านไปเวลากลับไปอีกครั้งและมองด้วยสายตาแบบนักมานุษยวิทยา ก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปอาจจะลดความตื่นตาตื่นใจ แต่เปลี่ยนเป้าหมายไปไปจับจ้องที่การเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม และการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ นี่ก็ถือเป็นการแนะนำเริ่มต้นถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่ให้ความรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้น่าไปและน่าไปสัมผัสบรรยากาศดูสักครั้ง แต่หากรู้ถึงวัฒนธรรมที่ลึกลงไป อาจจะทำให้หลายคนมีความสนใจมากกว่าที่จะตื่นตาตื่นใจกับการแต่งงานและเลือกซื้อสินค้าทางวัฒนธรรม นอกจากการมองทัศนียภาพที่สวยงามภายนอกอย่างผิวเผิน กลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองบั๊ค ฮา ส่วนมากจะเป็นกลุ่ม "ม้งดำ" และ "ม้งแดง" รวมถึงพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการบูชายัญควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของ "วิญญาณ"เจ้าแห่งแม่น่้ำ หรือธรรมชาติ โดยจะมีเพลงและเครื่องดนตรีพิเศษในการทำพิธีกรรมของพวกเขาคือ กลองใหญ่ รวมถึง น้ำ ควายและกระดูกควาย เพื่อใช้ในพิธีกรรมบูชายัญแบบเสร็จสำบูรณ์ ส่วนอัตลักษณ์ของการแต่งกายและลายผ้าที่สวยงามที่เราเห็นภาพนั้น เนื้อผ้าก็จะมีลักษณะที่หนาเหมาะแก่การสวมใส่กันหนาวได้ในภูมิประเทศเขตอาหาศหนาว ๆ แบบ บั๊ค ฮา ส่วนลวดลายของผ้านั้น ก็จะเป็นรูปทรงเรขาคณิต แบบสีสันตาราง ๆ ที่เห็นกันในภาพ รวมถึงลวดลายของนกและดอกไม้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แสดงออกในลายผ้าก็มาจากสัตว์และสีสันทางธรรมชาติของสภาพแวดล้อมในบั๊ค ฮา นั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีพิธีกรรมทางการเกษตรกรรมของพวกเขาโดยการเปลี่ยนหน้าดินโดยการเผาแปลงพื้นที่ทางการเกษตรและริเริ่มปลูกซ้ำใหม่อีกรอบหนึ่ง หรือที่เรียกว่า การทำไร่เลื่อนลอย(Shifting cultivation) โดยพืชที่ได้รับความนิยมในการปลูกก็คือข้าวโพด

แต่พอมองย้อนกลับไปหากเราได้มีโอกาสไปเที่ยวสถานที่ดังที่ผู้เขียนกล่าวแนะนำมานี้ เวลาที่เราไปซื้อของบางครั้ง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบท้องถิ่น ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการศึกษามากมาย แต่ทำไมขายของพูดจาดูฉลาดมากนัก บางครั้งก็ขายสิ่งของเกินราคาไปจริง ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเวลาไปซื้อของทั้งที ก็ควรระวังตัวและรอดูชาวบ้านเขาซื้อเขาจ่ายตังก่อน ถ้าหากซื้อในราคาบอกผ่านของชาวบ้าน ก็อาจจะถึงกับอึ้งและหมดอารมณ์ำไปเลยทีเดียว เพราะเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป มีสภาพแวดล้อมหรือสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาที่นี่ ชาวบ้านเองก็ต้องปรับตัวเพื่อสู้กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย คือ ต้องใช้ชีวิตส่วนหนึ่งหาเลี้ยงชีพกับชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวอย่างพวกเรา ๆ ส่วนในพื้นที่บั๊ค ฮา นั้น ในทุก ๆ หมู่บ้านจะมีโรงเรียนแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีหมู่บ้านเล็ก หมู่บ้านใหญ่ เด็กส่วนมากจะสนใจเรียนกันทุกคน โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ พวกผู้ใหญ่ที่พูดได้ก็พยายามถ่ายทอดและสอนกันเองในหมู่บ้าน (แม้วบางคนพูดภาษาอังกฤษไฟแล๊บ ถึงขนาดภาษาอังกฤษของผู้เขียนต้องเรียกได้ว่าอายแม๊วเลยทีเดียว) เพราะว่าเวลาเดินไปไหนก็ตาม เราจะได้เห็นเด็กชาวเขาตัวเล็ก ๆ ทักทายเป็นภาษาอังกฤษตลอดทาง และทุกหมู่บ้านนั้นก็จะมีโรงเรียนประถมดี ๆ มากมาย อาคารส่วนมากก็เป็นอาคารมาตรฐานของโรงเรียนประถมในหมู่บ้านชาวเขา บางหมู่บ้านมีมากกว่า 1 แห่ง ไม่ต้องมี ต.ช.ด. มาสอน หรือต้องจูงนักเรียนมานั่งผิงไฟตากแดดเหมือนบ้านเรา แต่ผลลัพธ์ก็คล้ายคลึงกัน คือมีโรงเรียน แต่ไม่มีนักเรียน เพราะชาวเขาส่วนมาก ไม่ว่าชาติไหน ๆ ก็ไม่นิยมให้ลูกเรียนหนังสือมากนัก เพราะอยากจะเก็บลูกไว้ใช้งานบ้านมากกว่า แต่ถึงกระนั้น เวียดนามก็จัดได้ว่าการศึกษาก้าวหน้ากว่าประเทศไทยเสียอีก แถมมีคนจบปริญญาเอกมากกว่าเมืองไทยเสียด้วย

บางครั้งวัฒนธรรมที่สวยงามของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในบั๊ค ฮา อาจจะดูสวยงาม และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว แต่วัฒนธรรมเหล่านี้ที่คงอยู่ได้ ก็คงเพราะนักท่องเที่ยวอีกเช่นกัน เพราะก็ถือว่าความสวยงามเหล่านี้ก็เป็นจุดขาย และเป็นเครื่องมือยังชีพของชาวบ้าน และนายทุน เจ้าของทัวร์ที่มาหาผลประโยชน์กำไรจากการจัดทัวร์ พาท่องเที่ยว ทำให้มองได้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้อาจจะอนุรักษ์ไว้ในเชิงท่องเที่ยวมากจะจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งสังเกตได้ จากที่นักท่องเที่ยวส่วนมากเดินทางไปท่องเที่ยว นักวิจัย นักวิชาการที่เดินทางไปสังเกตการณ์ ศึกษาวัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่ความจริงแล้วชาวบ้านเองก็เป็นผู้สังเกตเราเองเช่นกัน ภายใต้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามตามวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อม่ี่ยังอนุรักษ์อยู่ให้เห็น แต่เราไม่สามารถรู้ว่า ความคิดและจิตใจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งใน บั๊ค ฮา นั้นจะยังคงเดิมและยึดมั่นในตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาหรือปล่าว?




Sunday, March 25, 2012

ความเชื่อในพิธีกรรม "ศพ" ของชาวบาหลี..... Bali Cremation.

แค่ชื่อหัวข้อก็อาจจะดูเป็นพิธีกรรมที่น่ากลัวไปสักหน่อย เพราะเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ "ศพ"แต่เมื่อเห็นคำว่า "บาหลี" หลายคนก็คงรู้จักเกาะบาหลีของประเทศอินโดนิเซียเป็นอย่างดี เพราะจัดได้ว่าเป็นหมู่เกาะหนึ่งที่สวยงาม รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจและสวยงามของประเทศอินโดนิเซียและดินแดนอุษาคเนย์ของเราด้วย ประเพณีการทำศพ หรือพิธีกรรมแห่ศพของชาวบาหลีน้นก็เป็นปะเพณีหนึ่งที่สำคัญของชาวบาหลี ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมาก ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้น ๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่าพิธีกรรมแห่ศพซึ่งน่าจะสร้างความโศกเศร้าหรือเป็นงานส่วนบุคคลเฉพาะญาติพี่น้อง แต่กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ราวกับงานเฉลิมฉลองเลยทีเดียว

พิธีกรรมเกี่ยวกับศพของชาวบาหลีนั้นมีความสัมพันธ์มายาวนานในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะมักจะมีชาวตะวันตกเยอะมากที่เข้ามาศึกษาพิธีกรรมเหล่านี้ ซึ่งการรับรู้ส่วนใหญ่ของชาวตะวันตกส่วนมากต่อภาพลักษณ์ดั้งเดิมของบาหลีเป็นใน "แบบฉบับ" (Stereotype) ของวัฒนธรรมแบบอินเดีย ดังนั้นการบรรยายถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของพิธีสะตี(การเผาแม่ม่าย) ในบาหลี บันทึกของบริษัทดัตอีสต์อินเดีย ซึ่งดัตช์ทำสญญากับผู้ปกครองบาหลีในเรื่องการค้าทาส และมีการตั้งสถานีการค้าบนเกาะด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างดัตซ์กับชาวบาหลีไม่สู้จะดีนัก ชาวบาหลีรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามอิสรภาพ

ประเพณีฮินดูของชาวบาหลีเช่นการเผาแม่ม่ายกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจอย่างต่อเนื่องจากชาวยุโรป และยังเป็นแนวคิดสำคัญที่แพร่หลายจนกระทั้งถึงต้นศตวรรษที่ 20 แม้ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่มาจากอินเดีย และถูกใช้เป็นภาพประกอบบันทึกในยุคแรกเกี่ยวกับบาหลีก็ตาม ในขณะที่การเขียนบรรยายถึงพิธีสะตีในบาหลีนั้นจะแตกต่่างจากภาพประกอบในยุคแรก ๆ คือ พิธีกรรมเผาตัวเองของราชินีบาหลีและการสังเวยชีวิตของทาสหญิงอีก 22 คน ในปีพ.ศ.1633 ตามด้วยพิธีกรรมที่ข้าทาสผู้ซึ่งสามารถสวมชุดขาวเตรียมตัวสำหรับการประหารด้วยกริซ ซึ่งคนที่เขียนเรื่องราวพวกนี้ส่วนมากมักจะกล่าวถึงในแง่ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดของพิธีกรรม และบรรยายถึงความกล้าหาญของหญิงสาวที่เชือดตัวเองด้วยกริซ ซึ่งพิธีกรรมนี้นิ่งเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลีมากขึ้นไปอีก

ส่วนภาพลักษณ์ในด้านลบของบาหลียังถูกตอกย้ำจากการที่ชาวบาหลียึดมั่นในศาสนาฮินดูและไม่ยอมรับ "ความปรารถนาดี" ของหมอสอนศาสนา นำมาซึ่งความไม่พอใจมาสู่พวกหมอสอนศาสนา นอกจากนี้งานของ J.H.Moor บรรณาธิการ Malacca Observer and Singapore Chronocle ที่มีบทล้อเลียนและดูถูกชาวเกาะ โดยมีทัศนะว่าชาวบาหลีผิดที่ไม่ให้ความเคารพคนยุโรป วาระซ่อนเร้นของ Moor ที่เผยให้เห็นคือ ยุโรปเข้าไปแทรกแซงบาหลีก็เพื่อจะสอนมารยาทให้ชนพื้นเมือง และทำให้พวกเขาว่านอนสอนง่ายตามความต้องการของบรรดาหมอสอนศาสนาและพ่อค้า การที่อังกฤษมีบทบาทกับการค้าบาหลีมากขึ้นในทศวรรษที่ 1820 และ 1830 นำมาซึ่งความกลัวของดัชต์ต่อการขยายอิทธิพลมาสู่บาหลีของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ความทุกข์ร้อนของดัตช์ยิ่งทวีขึ้นอีกเมื่อพ่อค้ายุโรปที่ประสบความสำเร็จที่สุด ในการค้ากับบาหลีคือชาวเดนมาร์ก นามว่า Mads Johansen Lange(1806-1856) ดัตซ์จึงต้องการพิชิตเกาะบาหลี ภาพลักษณ์การชวนทะเลาะกับผู้ปกครองบาหลีจึงถูกขยายมากขึ้น การพิชิตบาหลีของดัตซ์เริ่มขึ้นในปี 1846 แต่ก็ยังไม่สำเร็จในช่วงการทำสงคราม รายงานของดัตซ์มักจะเขียนให้ผู้ปกครองชาวพื้นเมือง เป็นพวกป่าเถื่อนและหลอกลวง และเขียนถึงอุปนิสัยของชาวบาหลีที่ชอบทะเลาะอาละวาด สงครามครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงในปี 1906-1908 เมื่อราชสำนักของชาวบาหลีต่อสู้แบบยอมตายซึ่งเรียก วีรกรรมที่กล้าหาญนี้ว่า "ปูปูตัน" (Puputan) มากกว่าที่จะยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคม

ในวีรกรรมปูปูตันนั้น บรรดาคนในราชสำนักจะสวมเครื่องแต่งกายเต็มยศ แล้วเดินอย่างกล้าหาญเข้าไปเผชิญกับศัตรูแบบพร้อมตายมากกว่าต้องการมีชีวิตอยู่ กัปตันW.Cool ผู้เห็นเหตุการณ์ ได้บรรยายถึงสถานการณ์ที่น่าสะพรึ่งกลัว และยังให้ภาพที่เป็นจริงของการโต้ตอบของดัชซ์ "พวกนี้เป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่เหลือพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ผุ้ชาย ผู้หญิง และเด็ก พวกเขาพร้อมที่จะตายและเดินแถวในชุดที่สง่างามประดับด้วยเพชรนิลจินดา ในมือถือกริซและหอกด้วยท่าเตรียมพร้อม พวกเขาเตรียมตัวด้วยความแข็งแกร่งพร้อมเผชิญหน้ากับทหารของเรา นี่คือปูปูตันที่เลื่องชื่อ !!! มหารของเราไม่ได้รับการระคายเคืองสักนิด ฝ่ายตรงข้ามถูกฆ่าตายดังใบไม้ร่วง มีเล็ดลอดเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าประชิดดาบปลายปืนเราได้ แต่พวกนั้นก็ไม่ได้ถูกยิง พวกเราจัดการพวกนั้นด้วยสองมือของพวกเรา"

ปูปูตันมีความหมายว่า "อวสาน" เป็นสัญลักษณ์ประเพณีของการสิ้นสุดลงของอาณาจักร เชื่อกันว่าวิญญาณจะไปสู่สุขคติผ่านการตายในสนามรบ ดังนั้นจำเป็นสำหรับชนชั้นปกครองที่ต้องตายอย่างสมเกียรติ ดัตซ์เผชิญหน้ากับปูปูตันในการทำสงครามกับบาหลีและตกตะลึงต่อพิธีการฆ่าตัวตายนี้ ในสายตาของดัตซ์ปูปูตันถูกผนวกเข้าไปเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ความล้าหลังป่าเถื่อนของบาหลี อันประกอบไปด้วยเรื่องการค้าทาส การเผาแม่ม่าย และอุทิศชึวิตในสนามรบปูปูตันเกิดขึ้นอีกครั้งที่สองในเมือง Klungkung ในปี 1908   แทนที่จะยอมรับอำนาจต่างชาติ ราชวงศ์บาหลีเลือกที่จะตายอย่างมีเกียรติผ่านปูปูตัน อย่างไรก็ดีการที่ดัตซ์พยายามแสดงให้ว่าการเข้าครอบครองบาหลีเป็นเรื่องศีลธรรมของผู้มีอารยธรรมสูงส่งมาปลดปล่อยความล้าหลัง การพลีชีพของชาวบาหลีจึงกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ โดยดัตซ์อ้างว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าชาวบาหลีจะตอบโต้ด้วยวิธีการฆ่าตัวตายแบบนั้น และไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับปูปูตัน ดังนั้นเพื่อที่จะชดเชยการนองเลือดครั้งนั้นและแสดงถึงภาพลักษณ์ที่น่าสรรเสริญของเจ้าอาณานิคม ดัตช์จึงสนับสนุนแนวคิด "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" (Living Musuem) ในบาหลีขึ้น ภาพลักษณ์ใหม่นี้มีพื้นฐานอยู่บนการอนุรกษ์วัฒนธรรมของบาหลีและส่งเสริมเกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

พอย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของพิธีกรรมเกี่ยวกับศพของชาวบาหลีก็จะเห็นได้ว่ามีเรื่องราวความเชื่อที่น่าสนใจแฝงอยู่ในอิทธิพลของศาสนาและสังคมของชาวลาหลี ต่อไปก็จะกล่าวถึงเรื่องความเชื่อในพิธีกรรมศพของชาวบาหลี รวมถึงความเชื่อในการทำพิธีศพของชาวอุษาคเนย์ ทัศนคติที่แตกต่างของชาวอุษาคเนย์กับชาวตะวันตกที่มีต่อความตายอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประเพณีการจัดงานศพที่ใช้เวลาหลายวันทั้งผู้ร่วมงานแสดงความรื่นเริง สนุกต่อการละเล่น การแสดงที่มีเสียงดนตรีและเพลงหรือการแสดงที่เปิดเผยในเรื่องเพศ ใช้คำหยาบคายในการดื่มเหล้า หรืออาการไม่สำรวมโศกเศร้าร้องไห้ของญาติผู้ตาย ซึ่งอย่างในงานศพของชาวบาหลีและชวานั้น ที่มีความเชื่อในเรื่องงานศพต้องแสดงอาการดีใจ มิฉะนั้นวิญญาณจะหาหลุมศพไม่พบ(หากเป็นบ้านเราอาจจะรับไม่ได้หากในงานศพต้องแสดงท่าทีที่รื่นเริง) หรือการใช้คำหยาบคายในการละเล่นหรือมหรสพ ก็มักจะเป็นไปตามความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ เพราะในงานศพบรรพบุรุษจะต้องการให้เกิดการสืบทอดเผ่าพันธุ์ด้วยเสียงฆ้องหรือกลองที่ตีในพิธีศพ เป็นเสียงที่แสดงสัญลักษณ์การเปลี่ยนผ่านจากชีวิตไปสู่ความตาย จึงต้องตีให้ดังเพื่อให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผีง่ายขึ้น ซึ่งเราจะพบเสมอว่า การตี การเคาะเสียงดัง หรือการจุดพลุประทัด ก็เพื่อสื่อสารกับผีหรือเทพ ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน คลุมเครือ หรือช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ที่มีความลึกลับแฝงอยู่ เช่น การตีกลองมโหระทึกในพิธีศพ หรือในทางสังคมของชนเผ่าต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีน (ที่เคยกล่าวไปแล้วในพิธีบูชากบ (ในกรณี weblogนี้ต้องติดตามในตอนหน้า) แต่ในกลุ่มชนที่ต้องการเน้นความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งชุมชน การร้องไห้เสียงดัง อาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันถึงความคงอยู่ของความผูกพัน และความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้ตายและญาติ ๆ ก็ได้

" ภาพขบวนศพบาหลีในปัจจุบัน เริ่มได้รับตะวันอิทธิพลจากตะวันตก โดยส่วนมากเมื่อมีงานศพก็จะแต่งชุดดำ เป็นภาพที่ผู้เขียนบังเอิญเก็บภาพได้ขณะที่ไปอยู่ที่เกาะบาหลีเมื่อ 7 ปีที่แล้ว"


นอกจากนี้ชาวบาหลีเองเมื่อมีคนในครอบครัวตายก็มักจะเก็บศพไว้ในบ้านเพื่อทำพิธีกรรมคล้าย ๆ กับบ้านเรา ที่เก็บศพไว้ในบ้านบ้าง หรือวัดบ้าง เก็บไว้ร้อยวัน เจ็ดวัน แล้วค่อยเผา จึงมักมีประเด็นคำถามเสมอเกี่ยวกับเรื่องกลิ่นเหม็นของศพ ที่แม้ผู้ที่อยู่วัฒนธรรมตะวันตกที่มีสภาพแวดล้อมในภูมิอากาศที่หนาวเย็นกว่ายังนิยมจดการเรื่องศพให้เสร็จอย่างรวดเร็วที่สุดภายในหนึ่งวัน แต่ในอุษาคเนย์จะพบการเก็บศพไว้ในบ้าน รวมญาติมิตรสหายเป็นเวลานานหลายวัน ย่อมจะต้องมีกลิ่นเหม็นเน่าของศพจนไม่น่าจะทนอยู่ได้ แต่เหตุใดผู้คนแถบนี้จึงไม่สนใจเรื่องกลิ่นหรือความเน่าเหม็น


"ภาพขบวนศพใจกลางเมืองบาหลี เป็นภาพบางส่วนที่หลงเหลือจากการตัดมาจากวีดีโอ(ปัจจุบันไฟล์วีดีโอตายไปกบคอมเครื่องเก่าของผู้เขียน) ขบวนศพนี้จากการสอบถามเป็นศพของผู้มีฐานะทางสังคมในสังคมบาหลี(เป็นเจ้าของโรงแรมร่ำรวยมาก) และศพก็เก็บมานานแล้ว กำลังทำขวนแห่ศพเผื่อนำไปเผา"


ก็มีชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องกลิ่นไว้ว่า สำหรับชาวบาหลีรวมถึงชาวอุษาคเนย์ทั้งหลายแล้ว มีทัศนคติในเรื่องกลิ่นของตนเอง เช่นความนิยมในอาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า กะปิ หรือเหล้าพื้นเมือง เนื่องจากเห็นว่ามีรสชาติอร่อยกว่าของสดและเป็นของที่นิยมว่ามีคุณค่าในการประกอบอาหารหลักทั่วภูมิภาคนี้ กระบวนการทำให้เน่านั้นมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกับการเก็บศพ ดังนั้น กลิ่นที่ตะวันตกทนไม่ได้ จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจของผู้คนแถบนี้ที่คุ้นเคยและชมชอบกับกลิ่นหมักดอง บูด เน่า ของอาหารและเครื่องดื่มที่จงใจทำให้เป็น


นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมของพิธีกรรมศพของชาวบาหลี และดินแดนอุษาคเนย์ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมศพคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่ศพของชาวบาหลีที่น่าสนใจ ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่อลังกาล (ตามภาพประกอบ) ก็คือ มีขบวนคนหามโกศ ซึ่งจะมีการหามศพที่บรรจุในโกศ โดยมีทั้งของเซ่นไหว้ และสัตว์จำลองที่ทำขึ้น เช่น สัตว์ต่าง ๆ ในตำนานของชาวบาหลี ที่ทำขึ้นอย่างสวยงามใหญ่โต ใช้ในขบวนแห่ จนถึงเผาไปพร้อมกับศพอย่างอลังกาลงานสร้างเลยทีเดียว ซึ่งงานฌาปนกิจนี้ ไม่ใช่งานทุกข์โศกเวทนากันเลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เป็น tourist attraction อย่างหนึ่งไป เพราะผู้คนที่มาช่วยงาน ก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งและเป็นการให้เกียรติผู้ชาย ญาติมิตรครอบครัวของผู้ตายไปในตัวด้วย
"สัตว์จำลองต่าง ๆ ที่ร่วมมากับขบวนแห่ศพ เมื่อการเดินขบวนสิ้นสุดลง ก็จะเผาสัตว์จำลองไปพร้อมกับโกศที่บรรจุศพ ทั้งนี้การทำขบวนแห่ศพและสัตว์จำลองเหล่านี้ เป็นการบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของผู้ตายด้วย ซึ่งขบวนศพถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความร่ำรวยและมั่งคั่งของผู้ตาย"


ที่น่าพิศวงอีกอย่างหนึ่งในเกาะบาหลีคือ ในเกาะเล็ก ๆ ของบาหลีนี้ ยังแบ่งเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ กัน เทคโนโลยีชาวบ้านก็ต่างกัน ที่น่าสนใจคือหมู่บ้านตาบัว(Tabur) ริมทะเลสาป เชิงภูเขาคินตะมะนี(Kintamani) ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพการประมง ที่สำคัญคือ เวลาตายแล้วเขาจะไม่นำไปเผา แต่จะแบ่งสุสานเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับผู้ที่เคยแต่งงานแล้ว อีกส่วนสำหรับผู้บริสุทธิ์ สำหรับแห่งแรกจะให้ศพเน่าเปื่อยไปก่อนเหลือแต่กระดูกสีขาวเรียงราย แต่ส่วนหลังเก็บเป็นมัมมี่โดยใช้พืชชนิดหนึ่งรักษาให้ศพมีสภาพเหมือนเดิมตลอด น่าชื่นใจที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยในแถบเอเชียอาคเนย์แบบนี้ เราสามารถเดินทางไปชมได้ด้วยโดยเหมาะเรือไป(ถ้าไม่กลัวศพนะ)


จากที่ได้เห็นภาพรวมส่วนหนึ่งในการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับศพของชาวบาหลีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านเล็งเห็นก็คือภาพรวมของสังคมอุษาคเนย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมอุษาคเนย์ในอดีตและสังคมดั้งเดิม มีโลกทรรศน์เกี่ยวกับความตายที่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันอย่างมากที่จะเข้าใจ เหตุผลบางประการหนึ่ง อาจจะเพราะว่าผู้คนเหล่านี้ยังไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิด ความเชื่อและวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกจึงไม่เกิดการรังเกียจศพ ถึงแม้จะมีความกลัวแฝงอยู่ การจัดการเกี่ยวกับคนตายด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเป็นการเตรียมให้ผู้ตายเดินทางไปอยู่อีกโลกหนึ่งอย่างดีที่สุดเท่าที่ความเป็นมนุษย์จะพึงกระทำต่อผู้เป็นที่รักได้ มนุษย์ยอมรับความตายว่า คือการเปลี่ยนสภาพจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า จึงมีการเตรียมตัวสำหรับเดินทาง ด้วยความเข้าใจว่าจะได้พบกับบรรพบุรุษและผู้ที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อน


เราเองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อและพิธีศพที่เรามักพบเห็นในสังคมปัจจุบันที่แม้เต็มไปด้วยบรรยากาศของความเป็นระเบียบและการปฏิบัติต่อศพตามวิทยาการสมัยใหม่ที่ไม่น่ารังเกียจ แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเงียบเหงา วังเวง และความเป็นจริงที่ว่า ยิ่งความเจริญทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเพียงไร ดูเหมือนความเป็นคุณค่าของมนุษย์นั้นก็ถูกลดลงมากขึ้นเท่านั้น


บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อลงคอลัมภ์ "ห้วงเวลาอุษาคเนย์" ของผู้เขียนในนิตยสารรายสัปดาห์ แต่ยังไม่ทันได้ลงก็เปลี่ยนกอง บก.ฝ่ายศิลปวฒนธรรม เลยได้เลิกเขียนกันยกชุด ผู้เขียนจึงได้แต่เขียนเก็บไว้อ่านคนเดียว บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก อ.ปรานี วงษ์เทศ ที่ทำให้ผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจในสังคมอุษาคเนย์ เมื่อผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางบ่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในสังคมอุษาคเนย์ ผู้เขียนจึงมักจะสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเสมอ อย่างเช่นกรณีเรื่องพิธีศพของบาหลี ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องศพ หรือการตายของมนุษย์เท่านั้น แต่เพียงแค่พิธีกรรมที่มนุษย์จัดให้แก่ผู้ตาย กับสะท้อนภาพรวมของวิธีคิดและโครงสร้างทางสังคม ผ่านพิธีกรรมและความเชื่อของคนในสังคมเหล่านี้ ซึ่งเปรียบเสมือนแว่นขยายให้เรามองเห็นประเทศเพื่อนบ้านและสังคมใกล้ตัวเราว่ามีลักษณะคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนหวังว่าบทความหรือเรื่องเล่าจากบันทึกความทรงจำของผู้เขียนที่เดินทางไปบาหลี 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ.2547 และ พ.ศ.2549 ที่มีโอกาสไปเจอพิธีศพที่บาหลีถึง 2 ครั้ง 2 ครา ซึ่งณ เวลานั้นผู้เขียนได้ทำการถ่ายรูปและวีดีโอบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากลักษณะของขบวนศพ มีความคล้ายคลึงกับขบวนพาเหรด ซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวในขณะนั้นอย่างมาก จึงได้นำความรู้ที่อาจารย์สอนมาประยุกต์ใช้กับประสบการณ์เดินทางแบบไม่ตั้งใจของผู้เขียนมาถ่ายทอดให้ผู้อ่าน ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย

Saturday, September 12, 2009

ซาราวัก (Saravak) ดินแดนชนเผ่าน่าเกรงขามของนักไล่ล่าหัวศัตรู (นักฆ่าล่าหัว)

ขอเกริ่นถึงภูมิหลังบทความนี้หน่อยนะคะ บทความนี้เป็นบทความจากประสบการณ์ของออมระหว่างใช้ชีวิตที่เกาะบอร์เนียวเป็นเวลา 3เดือน เป็นเพียงแค่บทความย่อ ๆ ส่วนหนึ่ง เพราะเนื่องจากมีโอกาสได้เขียนเรื่องราวลงในหนังสือมหาประชาชนสุดสัปดาห์ หนังสือที่ออกมาเพื่อโจมตีกระแสการเมืองที่ร้อนระอุ คอลัมภ์แรกในชีวิตของตัวเองคือ "ห้วงเวลาอุษาคเนย์" แต่เป็นแค่คอลัมภ์ชูโรงทำให้หนังสือสมบูรณ์แบบมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้หนังสือได้ปิดตัวลงแล้ว เนื่องจากเจ้าของหนังสือนี้หมดหน้าที่ทางการเมือง ออมจึงกลัวบทความนี้จะหาย เนื่องจากคอมก้เจ๊งบ่อย ๆ และรูปก็หายไปเยอะ จึงอัพเดทลงเวบเพื่อกันการสูญหายไปได้บ้างและเผื่อคนที่ยังไม่ได้อ่านด้วยค่ะ หากตอนนั้นได้เรียนมานุษยวิทยาแล้วออมอาจจะเก็บข้อมูลประเด็นได้น่าสนใจกว่านี้นะคะ




ภาพการแต่งกายของหญิง-ชาย ชาวอีบัน




ซาราวัก (Saravak) พอได้ยินชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบเลยว่า ซาราวัก (Saravak) อยู่ส่วนไหนของมุมโลก และคงไม่คาดคิดว่า “ ซาราวัก (Saravak)” จะอยู่ในดินแดนอุษาคเนย์ของเรานี่เอง แถมยังไม่ใกล้ไม่ไกลประเทศไทยของเราด้วย นั่นก็คือ ประเทศมาเลเซีย นั่นเอง



ซาราวัก (Saravak) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว จนกระทั่งวันนี้ ชื่อบอร์เนียวยังให้ความรู้สึกถึงความแปลกถิ่น เหมือนเป็นดินแดนที่ต้องไปผจญภัยและเดินทางไปยังที่ๆเราไม่รู้จัก ทั้งยังภาพทียังติดตาของป่าดงดิบที่เข้าไปไม่ถึงนักล่าหัวมนุษย์ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่า ราจะห์ (ราชา) ผิวขาว และความมั่งมั่ง และจัดได้ว่ามีเชื้อชาติที่หลากหลายที่สุดในมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นชาวมองโกลอยด์ที่อพยพมาจาก กาลิมันตัน (บอร์เนียวในอินโดนิเซีย) ในซาราวักมีประชาชนที่หลากหลายภาษา และมีหลายชนเผ่าด้วยกัน ประกอบด้วยชาวอีบัน (I-Ban) หรือ นักล่าหัว ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในซาบาห์ (เป็นรัฐที่อยู่ติดกับซาราวัก) และบีดายุห์หรือดายะก์บก เผ่ามลาเนา ก็เป็นชุมชนใหญ่เช่นกัน และยังมีอีกหลายชนเผ่าที่รวมเรียกกันว่า โอรัง อูลู แปลว่า “คนภายใน” ซึ่งทุกวันนี้มีความหมายในเชิงลบโดยมีนัยถึงคนโง่เขลาและป่าเถื่อน ชนเหล่านี้จึงชอบให้เรียกชื่อเผ่าของตัวเองมากกว่า กลุ่มโอรัง อูลู ยังรวมถึงชนเร่ร่อนอย่างปูนันและปนันชุมชนกายันและเกินยะห์ซึ่งมีโครงสร้างชุมชนอย่างดี และมีเผ่ากาจัง กลาบิต ลุนบาวัง และบีซายา โดยแต่ละกลุ่มนั้นจะประกอบด้วยเผ่าย่อยๆอีก ซึ่งแล้วแต่มีชื่อเฉพาะของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งมีเยอะมากจนผู้เขียนถึงกับมึนงงเลยทีเดียว



เนื่องจากพอรู้ถึงความหลากหลายชนเผ่าในซาราวัก (Saravak) กันบ้างแล้ว ผู้เขียนขอเล่าถึงชนเผ่าที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดของซาราวัก (Saravak) หรือดินแดนบอร์เนียวเลยแล้วกัน ซึ่งชาวบอร์เนียวนั้นเคยได้ชื่อว่าเป็นนักล่าศรีษะ ,นักฆ่าล่าหัว ฯลฯ คำเหล่านี้ทำให้นึกถึงความก้าวร้าวโหดเหี้ยม ทำให้บอร์เนียวนั้นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งชนดั้งเดิมที่ฝันเฟื่อง แต่โดยแท้จริงแล้วชาวซาราวัก (Saravak) นั้นเป็นคนเคารพกฎเกณฑ์และอ่อนโยน (ไม่น่าเชื่อเลย) ในสมัยซึ่งยังมีการล่าหัวมนุษย์ จะมีการเด็ดหัวศัตรูก็ต่อเมื่อมีโรคระบาดในชุมชนเท่านั้น เชื่อกันว่าหัวของศัตรูสามารถป้องกันภยันตรายและโรคภัยไข้เจ็บได้ และการตัดหัวมนุษย์นั้นยังเป็นการพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ด้วย ไม่ใช่ว่าการล่าหัวมนุษย์นั้น คิดอย่างล่าจะหัวใครก็ไปตัดมาได้ การล่าหัวของชาวอีบันนั้น จะเลือกล่าหัวศัตรูและหัวของนักรบผู้กล้าเท่านั้น (นี่ถือเป็นการให้เกียรติด้วย) โดยที่ภรรยาและลูกหลานของศัตรูจะตกเป็นฝ่ายชนะ (อันนี้คนที่โดนตัดหัวอาจจะไม่พอใจเท่าไหร่) และมีการนำหัวของศัตรูที่ล่าได้ไม่รู้ต่อกี่รายๆกลับมาพิทักษ์บ้านเรือนของตน จะไม่มีการฆ่าเด็กหญิง, ผู้หญิง,คนแก่คนเจ็บ (น่าเสียดายที่นักเขียนในศตวรรษที่ 19 เข้าใจธรรมเนียมเหล่านี้ผิดไปมาก จึงทำการเขียนเล่าเรื่องราวสยดสยองของนักล่าหัวชาวอีบัน ทำให้ภาพลักษณ์ชาวอีบันจัดอยู่ในสังคมที่ป่าเถื่อนและมีผลกระทบไปถึงสังคม อุษาคเนย์ของเราอีกด้วยเล็กน้อย (ซึ่งตอนนี้ก็ควรองใหม่ได้แล้วนะคะ) ทุกวันนี้การล่าหัวมนุษย์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (อันนี้แน่นอนเพราะเป็นการฆาตกรรมชัดๆและก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องล่าแล้วด้วย) กะโหลกที่เห็นแขวนอยู่ในแต่ละบ้านเป็นมรดกที่สืบทอดต่อๆกันมา ซึ่งผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้เห็นกะโหลกมนุษย์แขวนอยู่ตามหน้าบ้านนั่นก็ถือว่าเป็นความเชื่อของชาวอีบันว่าการแขวนกะโหลกหน้าบ้านของศัตรูที่มีความสามารถนั้น จะช่วยคุ้มครองพวกเขา (แต่กะโหลกของจริงนั้นหดตัวเล็กลงเท่ากะลามะพร้อมลูกเล็กๆเท่านั้นเอง) แต่ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวส่วนมากก็เข้าใจวัฒนธรรมอีบัน และจากที่อธิบายมาชาวอีบันนั้นก็ไม่ได้เป็นคนที่กระหายเลือดอย่างไร้กฎเกณฑ์



"ภาพบนและล่าง บ้านเรือนยาวของชาวอีบัน"








นักรบหนุ่มชาวอีบันนั้นจะออกจากบ้านไปท่อง “โลก” เพื่อแสวงโชคให้แก่บ้านเรือนยาว เพื่อแสวงโชคให้แก่บ้านเรือนยาว สร้างชื่อเสียงและหาเจ้าสาวให้ตัวเอง (ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่แต่บางคนเท่านั้น) และได้รับการยกย่องด้วยรอยสักที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญ ซึ่งการสักก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวบอร์เนียว ทั้งหญิงและชายก็ต่างมีรอยสักและลวดลายที่งดงามบนร่างกาย เป็นการตกแต่งและป้องกันภัย ซึ่งต้องออกแบบให้กับเจ้าตัวด้วย แต่ปัจจุบันนี้การสักเป็นแฟชั่นสำหรับหนุ่มสาวอีบันที่เข้ามาอยู่ในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในอดีตก็ยังมีการเจาะหูห้อยตุ้มน้ำหนักยาวหรือแท่งไม้เพื่อให้ติ่งหูยืดออก หญิงสาวจะเลือกแท่งไม้ที่มีน้ำหนักมากเพื่อให้ติ่งหูยาวมาถึงระดับอก เพราะถือว่าติ่งหูแบบนั้นแสดงถึงความสวยงาม แต่หญิงสาวส่วนมากในปัจจุบันนิยมตัดแต่งติ่งหูยาวของตนให้มีขนาดปกติเพื่อความทันสมัย



นอกจากนี้ยังมีความเชื่อของชาวอีบัน ยังเชื่อใน โบโมะห์ (หมอผี Shaman) เป็นผู้เชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ที่ทุกคนนับถือ ใช้วิธีร่ายอิลมู (คาถา) และน้ำสมุนไพรรักษาโรค โดยเฉพาะที่เกิดจากฮันตู (วิญญาณ) กระทำ ลัทธิภูตผีในยุคแรกนั้นซึ่งจะมีการเชิญวิญญาณเข้าสิงสถิตในทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างขึ้น ถือปฏิบัติโดย โอรัง อัสลี (ชนพื้นเมือง) กลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในชนบทลึกเข้าไปในคาบสมุทร และศาสนาของชนพื้นเมืองในซาราวัก (Saravak)นั้นซับซ้อนมากกว่านี้ ทั้งยังมีทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับกำเนิดชีวิต โดยถือว่าพระเจ้ามีข้อบกพร่องต่างๆเหมือนมนุษย์ ความเชื่อเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิม ในสังคมเก่าแก่ของชาวมาเลย์อีกด้วย



หากกล่าวถึงนักรบอีบันแล้ว จะไม่กล่าวถึงบ้านเรือนยาวก็คงไม่ได้ บ้านเรือนยาวของชาวอีบัน บ้านเรือนยาวเป็นโลกใบเล็กของสังคมที่ดำเนินไปได้อย่างดี คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้หลังคาเดียวกันมีหัวหน้าหนึ่งคนเรียกว่า “ดูไว รูมะห์ ” ในโครงสร้างที่ทอดยาวตามแนวนอน แต่ละครอบครัวจะมี บีเละก์ เป็นพื้นที่ส่วนตน ใช้เป็นที่นอนและกินอาหาร ในห้องกลางก็มักเรียงรายด้วยโถกระเบื้องจีนที่ชาวอีบันชอบ ด้านหลังเป็นครัวใช้สำหรับหุงหาอาหาร โดยใช้ฟืน ทำให้อาหารส่วนมากจะออกรสชาติของควันไฟปะปนอยู่ด้วย ซึ่งบ้านเรือนยาวนี้ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ความเป็นอยู่ของชาวอีบัน เพราะก็ไม่น่าเชื่อว่าหลายครอบครัวนั้นหรือทั้งหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ มาอยู่รวมกันภายใต้บ้านหลังเดียว



นอกจากนี้แล้ว ที่น่าสนใจก็คือ ไก่ตัวผู้จะมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมของชาวีบันมาก มักจะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรดระหว่างเตรียมลงสนามครั้งแรก เพราะการชนไก่ ผู้ชายจะนิยมชนได้เพื่อฆ่าเวลา โดยครั้งแรกนั้นผู้ชายจะหมั่นเล่นกับมัน โดยนำไปซ้อมชนกับไก่ของเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ติดเดือยแหลมคมที่นิ้วตีนหลัง เพราะเก็บไว้ใช้ในการต่อสู้ เดือยอาจทำให้คู่ต่อสู้ที่อ่อนแอกว่าตายได้ในไม่กี่นาที ก่อนการต่อสู้ บางครั้งจะให้ไก่กินหยด ตูวะก์ (เหล้านั่นเอง)เล็กน้อย เพื่อให้มีพลังฮึกเหิม ไก่ตัวผู้และลูกไก่ยังมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ การบูชายัญลูกไก่เป็นเรื่องธรรมดา และเชื่อว่าลูกไก่ตัวผู้สีขาวมีพลังลึกลับ ซึ่งก็คล้ายกับวัฒนธรรมอื่นๆทั่วโลก และในพิธีกรรมต่างๆ เช่น กรณีคนป่วยหรือถูกผีเข้าก็จะมีการเซ่นไก่ แล้วนำเลือดซึ่งถือว่าบริสุทธิ์มาพรมใส่ผู้ป่วย ในกรณีที่ไม่ร้ายแรงมากนักก็จะนำไก่ที่มีชีวิตมาโบกเหนือร่างคนป่วยหรือเหนือจานของในถวายพิธี







"การแสดงของนักรบชาวอีบันแด่นักท่องเที่ยว"





จากนักรบไล่ล่าหัวมนุษย์


กลายมาเป็นไล่ล่าเงินตราจากนักท่องเที่ยว


เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมทั้งหลายได้เริ่มหมดไป รัฐซาราวัก (Saravak) ในบอร์เนียวมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ขณะที่คนตัดไม้ขยับไปเข้าไปในป่าลึกขึ้น มีการเข้าถึงป่าลึกมืด ความลี้ลับของป่าก็หมดไป หรือเร็วไปได้ถึงถิ่นฐานห่างไกลรวมถึงบ้านเรือนยาวของชาวอีบันด้วย การเดินทางที่เคยกินเวลาหลายสัปดาห์ที่ต้องฝ่าสายน้ำเชี่ยว ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงด้วยเรือยนต์กำลังแรงตะลุยทวนน้ำ


ขณะที่ยุคของนักล่าหัวได้หมดสิ้นไปนานแล้ว แต่ธรรมเนียมแห่งการเอื้อเฟื้อของซาราวัก (Sravak) ก็ยังคงดำรงอยู่ และแม้ระยะเวลาเปลี่ยนแปลงไป รัฐที่ใกล้เคียงกับซาราวัก (Saravak) ที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน โดยๆได้มีประวัติเกี่ยวพันกับอังกฤษเหมือนกันแต่ก็มีพัฒนาการแตกต่างกัน โดยที่รัฐอื่นนั้นมีทัศนคติต่อชนพื้นเมืองในลักษณะที่คำนึงถึงความเป็นจริงมากกว่าจะฝันหวาน ส่วนชาวซาราวัก (Saravak) จะให้เกียรติในเรื่องวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน แต่ก็คำนึงถึงชาวบ้านรอบข้างด้วย ผลก็คือชาวซาราวัก (Saravak) สมัยนั้นยังคงมีเอกภาพทางวัฒนธรรมและภูมิใจในประเพณีของตน แต่เมื่อโดนสังคมแบบทุนนิยมที่เป็นโรคระบาดในขณะนี้ จากที่ทำสงครามเอาตัวรอด เป็นนักล่าที่กล้าหาญเข้มแข็ง ก็ต้องยอมจำนนกับทุนนิยมต่างๆ ถึงแม้วัฒนธรรมของชาวซาราวัค (Saravak) จะไม่ถูกทำลายลงไปด้วย แต่วัฒนธรรมเหล่านั้นก็เป็นเครื่องมือยังชีพในสังคมของพวกเขา และใช้วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของเค้านั้นมาเป็นจุดขายเรียกเงินจากนักท่องเที่ยวได้มากโข รวมถึงมรดกอันเก่าแก่โบราณของบ้านเมืองตนเองก็ต้องนำมาเป็นจุดขายเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งจากสังคมที่อยู่ในป่าเป็นนักล่าไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่โลกวัตถุนิยมผลิตหรือสร้างขึ้นเพื่อสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ขึ้นทำให้การแข่งขันในสังคมก็ต้องถีบตัวสูงขึ้น ดังนั้น จากที่เป็นถูกไล่ล่ามาก่อนก็กลายมาเป็นผู้ถูกล่าบ้าง โดนทุนนิยมไล่ล่าและเพื่อความอยู่รอดของเผ่าตนทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องนำมาขายเพื่อเป็นทุนยังชีพ และต้องบริโภคนิยมตามกระแสสังคมภายนอกมาด้วย ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ในบ้านเรือนยาวนั้นผนังที่เคยซีดจางของตระกูลบรูคและพระราชินีอลิซาเบธที่2 ปัจจุบันกลายเป็นประดับรูปสีของนางงาม รถแข่ง และดารายอดนิยมที่ตัดจากนิตยสาร ชาวอีบันส่วนมากที่เคยนับถือภูตผีก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ จากที่ตอนเย็นเคยท่องคาถาประจำเผ่าและทำพีบูชายัญ ก็หันมาสวดมนต์ร่วมกับเด็กๆ ซึ่งเคยสนุกสนานในนาข้าวตามสบายทั้งวัน ก็ต้องมาหมกตัวอยู่ในโรงเรียน เล่าเรียนภาษามาเลเซียและฟิสิกข์ และการทำพิธีการละเล่นในปัจจุบัน ก็กลายมาเป็นการแสดงบนเวทีให้นักท่องเที่ยวชมและถ่ายรูป รวมถึงการแต่งกายของนักรบชาวอีบัน ซึ่งแต่ก่อนนั้นน่าเกรงขามมากและพร้อมที่จะไล่ล่าอยู่เสมอ ก็กลับกลายเป็นเพียงแต่งเพื่อให้ท่องเที่ยวถ่ายรูป ( ซึ่งก็ขอบคุณที่เลิกตัดหัว มิฉะนั้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวเสียวสันหลัง ว๊าบ ! ไปเลยเหมือนกัน ) แม้แต่บ้านเรือนยาวส่วนหนึ่งก็ยังโดนนำมาดัดแปลงเป็นเรือนพักสำหรับนักท่องเที่ยวและตกแต่งเพื่อให้น่าอยู่และเอาใจลูกค้า และมีบ้านพัก โฮม สเตย์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะลองสัมผัสการกินอยู่แบบวิถีชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม ก็กลายเป็นธุรกิจทางเลือกหนึ่งที่เอาใจนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจิตวิญญาณของชุมชนนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แต่เพียงแต่จิตวิญาณเหล่านั้นถูกขายไปเพื่อการยังชีพอยู่ในสังคมสมัยใหม่และบริโภคที่นิยมได้เหมือนกับสังคมอื่นๆทั่วไป



เดี๋ยวนี้ถ้าเราอยากจะเดินทางไปซาราวัก (Saravak) ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะถ้าอยากจะไปดูวัฒนธรรมดั้งเดิมล่ะก็ เพียงนั่งเครื่องจากมาเลเซียต่อไปที่เกาะบอร์เนียว เพียงชั่วโมงเดียว หรือไม่ อาจจะนั่งเครื่องจากประเทศไทยไปก็ได้ การเดินทางสมัยนี้แทบไม่ยุ่งยากอะไรเลย เพราะเมืองหลวงของ ซาราวัก (Saravak) นั้น ตอนนี้ มีทางเลือกให้คุณเลือกพักได้มากมายเพราะจัดได้ว่าเป็นเมื่อใหญ่ที่เจริญหูเจริญตาด้วยความทันสมัยมากเลยทีเดียว แถวยังค่าครองชีพสูงอีกด้วยทำให้ผู้เขียน คิดว่า แสดงว่าเมืองนี้ต้องเศรษฐกิจไปค่อนข้างดีแน่ๆ เพราะไม่รู้ประชาขนที่นี่จับจ่ายใช้สอยสินค้าแพงๆเหล่านี้ได้อย่างไร


ลงในมหาประชาชนสุดสัปดาห์ ในคอลัมภ์"ห้วงเวลาอุษาคเนย์"


วันที่ 2-8 พฤศจิกายน 2550