Saturday, September 12, 2009

ซาราวัก (Saravak) ดินแดนชนเผ่าน่าเกรงขามของนักไล่ล่าหัวศัตรู (นักฆ่าล่าหัว)

ขอเกริ่นถึงภูมิหลังบทความนี้หน่อยนะคะ บทความนี้เป็นบทความจากประสบการณ์ของออมระหว่างใช้ชีวิตที่เกาะบอร์เนียวเป็นเวลา 3เดือน เป็นเพียงแค่บทความย่อ ๆ ส่วนหนึ่ง เพราะเนื่องจากมีโอกาสได้เขียนเรื่องราวลงในหนังสือมหาประชาชนสุดสัปดาห์ หนังสือที่ออกมาเพื่อโจมตีกระแสการเมืองที่ร้อนระอุ คอลัมภ์แรกในชีวิตของตัวเองคือ "ห้วงเวลาอุษาคเนย์" แต่เป็นแค่คอลัมภ์ชูโรงทำให้หนังสือสมบูรณ์แบบมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้หนังสือได้ปิดตัวลงแล้ว เนื่องจากเจ้าของหนังสือนี้หมดหน้าที่ทางการเมือง ออมจึงกลัวบทความนี้จะหาย เนื่องจากคอมก้เจ๊งบ่อย ๆ และรูปก็หายไปเยอะ จึงอัพเดทลงเวบเพื่อกันการสูญหายไปได้บ้างและเผื่อคนที่ยังไม่ได้อ่านด้วยค่ะ หากตอนนั้นได้เรียนมานุษยวิทยาแล้วออมอาจจะเก็บข้อมูลประเด็นได้น่าสนใจกว่านี้นะคะ




ภาพการแต่งกายของหญิง-ชาย ชาวอีบัน




ซาราวัก (Saravak) พอได้ยินชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบเลยว่า ซาราวัก (Saravak) อยู่ส่วนไหนของมุมโลก และคงไม่คาดคิดว่า “ ซาราวัก (Saravak)” จะอยู่ในดินแดนอุษาคเนย์ของเรานี่เอง แถมยังไม่ใกล้ไม่ไกลประเทศไทยของเราด้วย นั่นก็คือ ประเทศมาเลเซีย นั่นเอง



ซาราวัก (Saravak) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว จนกระทั่งวันนี้ ชื่อบอร์เนียวยังให้ความรู้สึกถึงความแปลกถิ่น เหมือนเป็นดินแดนที่ต้องไปผจญภัยและเดินทางไปยังที่ๆเราไม่รู้จัก ทั้งยังภาพทียังติดตาของป่าดงดิบที่เข้าไปไม่ถึงนักล่าหัวมนุษย์ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่า ราจะห์ (ราชา) ผิวขาว และความมั่งมั่ง และจัดได้ว่ามีเชื้อชาติที่หลากหลายที่สุดในมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นชาวมองโกลอยด์ที่อพยพมาจาก กาลิมันตัน (บอร์เนียวในอินโดนิเซีย) ในซาราวักมีประชาชนที่หลากหลายภาษา และมีหลายชนเผ่าด้วยกัน ประกอบด้วยชาวอีบัน (I-Ban) หรือ นักล่าหัว ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในซาบาห์ (เป็นรัฐที่อยู่ติดกับซาราวัก) และบีดายุห์หรือดายะก์บก เผ่ามลาเนา ก็เป็นชุมชนใหญ่เช่นกัน และยังมีอีกหลายชนเผ่าที่รวมเรียกกันว่า โอรัง อูลู แปลว่า “คนภายใน” ซึ่งทุกวันนี้มีความหมายในเชิงลบโดยมีนัยถึงคนโง่เขลาและป่าเถื่อน ชนเหล่านี้จึงชอบให้เรียกชื่อเผ่าของตัวเองมากกว่า กลุ่มโอรัง อูลู ยังรวมถึงชนเร่ร่อนอย่างปูนันและปนันชุมชนกายันและเกินยะห์ซึ่งมีโครงสร้างชุมชนอย่างดี และมีเผ่ากาจัง กลาบิต ลุนบาวัง และบีซายา โดยแต่ละกลุ่มนั้นจะประกอบด้วยเผ่าย่อยๆอีก ซึ่งแล้วแต่มีชื่อเฉพาะของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งมีเยอะมากจนผู้เขียนถึงกับมึนงงเลยทีเดียว



เนื่องจากพอรู้ถึงความหลากหลายชนเผ่าในซาราวัก (Saravak) กันบ้างแล้ว ผู้เขียนขอเล่าถึงชนเผ่าที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดของซาราวัก (Saravak) หรือดินแดนบอร์เนียวเลยแล้วกัน ซึ่งชาวบอร์เนียวนั้นเคยได้ชื่อว่าเป็นนักล่าศรีษะ ,นักฆ่าล่าหัว ฯลฯ คำเหล่านี้ทำให้นึกถึงความก้าวร้าวโหดเหี้ยม ทำให้บอร์เนียวนั้นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งชนดั้งเดิมที่ฝันเฟื่อง แต่โดยแท้จริงแล้วชาวซาราวัก (Saravak) นั้นเป็นคนเคารพกฎเกณฑ์และอ่อนโยน (ไม่น่าเชื่อเลย) ในสมัยซึ่งยังมีการล่าหัวมนุษย์ จะมีการเด็ดหัวศัตรูก็ต่อเมื่อมีโรคระบาดในชุมชนเท่านั้น เชื่อกันว่าหัวของศัตรูสามารถป้องกันภยันตรายและโรคภัยไข้เจ็บได้ และการตัดหัวมนุษย์นั้นยังเป็นการพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ด้วย ไม่ใช่ว่าการล่าหัวมนุษย์นั้น คิดอย่างล่าจะหัวใครก็ไปตัดมาได้ การล่าหัวของชาวอีบันนั้น จะเลือกล่าหัวศัตรูและหัวของนักรบผู้กล้าเท่านั้น (นี่ถือเป็นการให้เกียรติด้วย) โดยที่ภรรยาและลูกหลานของศัตรูจะตกเป็นฝ่ายชนะ (อันนี้คนที่โดนตัดหัวอาจจะไม่พอใจเท่าไหร่) และมีการนำหัวของศัตรูที่ล่าได้ไม่รู้ต่อกี่รายๆกลับมาพิทักษ์บ้านเรือนของตน จะไม่มีการฆ่าเด็กหญิง, ผู้หญิง,คนแก่คนเจ็บ (น่าเสียดายที่นักเขียนในศตวรรษที่ 19 เข้าใจธรรมเนียมเหล่านี้ผิดไปมาก จึงทำการเขียนเล่าเรื่องราวสยดสยองของนักล่าหัวชาวอีบัน ทำให้ภาพลักษณ์ชาวอีบันจัดอยู่ในสังคมที่ป่าเถื่อนและมีผลกระทบไปถึงสังคม อุษาคเนย์ของเราอีกด้วยเล็กน้อย (ซึ่งตอนนี้ก็ควรองใหม่ได้แล้วนะคะ) ทุกวันนี้การล่าหัวมนุษย์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (อันนี้แน่นอนเพราะเป็นการฆาตกรรมชัดๆและก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องล่าแล้วด้วย) กะโหลกที่เห็นแขวนอยู่ในแต่ละบ้านเป็นมรดกที่สืบทอดต่อๆกันมา ซึ่งผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้เห็นกะโหลกมนุษย์แขวนอยู่ตามหน้าบ้านนั่นก็ถือว่าเป็นความเชื่อของชาวอีบันว่าการแขวนกะโหลกหน้าบ้านของศัตรูที่มีความสามารถนั้น จะช่วยคุ้มครองพวกเขา (แต่กะโหลกของจริงนั้นหดตัวเล็กลงเท่ากะลามะพร้อมลูกเล็กๆเท่านั้นเอง) แต่ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวส่วนมากก็เข้าใจวัฒนธรรมอีบัน และจากที่อธิบายมาชาวอีบันนั้นก็ไม่ได้เป็นคนที่กระหายเลือดอย่างไร้กฎเกณฑ์



"ภาพบนและล่าง บ้านเรือนยาวของชาวอีบัน"








นักรบหนุ่มชาวอีบันนั้นจะออกจากบ้านไปท่อง “โลก” เพื่อแสวงโชคให้แก่บ้านเรือนยาว เพื่อแสวงโชคให้แก่บ้านเรือนยาว สร้างชื่อเสียงและหาเจ้าสาวให้ตัวเอง (ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่แต่บางคนเท่านั้น) และได้รับการยกย่องด้วยรอยสักที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญ ซึ่งการสักก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวบอร์เนียว ทั้งหญิงและชายก็ต่างมีรอยสักและลวดลายที่งดงามบนร่างกาย เป็นการตกแต่งและป้องกันภัย ซึ่งต้องออกแบบให้กับเจ้าตัวด้วย แต่ปัจจุบันนี้การสักเป็นแฟชั่นสำหรับหนุ่มสาวอีบันที่เข้ามาอยู่ในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในอดีตก็ยังมีการเจาะหูห้อยตุ้มน้ำหนักยาวหรือแท่งไม้เพื่อให้ติ่งหูยืดออก หญิงสาวจะเลือกแท่งไม้ที่มีน้ำหนักมากเพื่อให้ติ่งหูยาวมาถึงระดับอก เพราะถือว่าติ่งหูแบบนั้นแสดงถึงความสวยงาม แต่หญิงสาวส่วนมากในปัจจุบันนิยมตัดแต่งติ่งหูยาวของตนให้มีขนาดปกติเพื่อความทันสมัย



นอกจากนี้ยังมีความเชื่อของชาวอีบัน ยังเชื่อใน โบโมะห์ (หมอผี Shaman) เป็นผู้เชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ที่ทุกคนนับถือ ใช้วิธีร่ายอิลมู (คาถา) และน้ำสมุนไพรรักษาโรค โดยเฉพาะที่เกิดจากฮันตู (วิญญาณ) กระทำ ลัทธิภูตผีในยุคแรกนั้นซึ่งจะมีการเชิญวิญญาณเข้าสิงสถิตในทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างขึ้น ถือปฏิบัติโดย โอรัง อัสลี (ชนพื้นเมือง) กลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในชนบทลึกเข้าไปในคาบสมุทร และศาสนาของชนพื้นเมืองในซาราวัก (Saravak)นั้นซับซ้อนมากกว่านี้ ทั้งยังมีทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับกำเนิดชีวิต โดยถือว่าพระเจ้ามีข้อบกพร่องต่างๆเหมือนมนุษย์ ความเชื่อเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิม ในสังคมเก่าแก่ของชาวมาเลย์อีกด้วย



หากกล่าวถึงนักรบอีบันแล้ว จะไม่กล่าวถึงบ้านเรือนยาวก็คงไม่ได้ บ้านเรือนยาวของชาวอีบัน บ้านเรือนยาวเป็นโลกใบเล็กของสังคมที่ดำเนินไปได้อย่างดี คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้หลังคาเดียวกันมีหัวหน้าหนึ่งคนเรียกว่า “ดูไว รูมะห์ ” ในโครงสร้างที่ทอดยาวตามแนวนอน แต่ละครอบครัวจะมี บีเละก์ เป็นพื้นที่ส่วนตน ใช้เป็นที่นอนและกินอาหาร ในห้องกลางก็มักเรียงรายด้วยโถกระเบื้องจีนที่ชาวอีบันชอบ ด้านหลังเป็นครัวใช้สำหรับหุงหาอาหาร โดยใช้ฟืน ทำให้อาหารส่วนมากจะออกรสชาติของควันไฟปะปนอยู่ด้วย ซึ่งบ้านเรือนยาวนี้ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ความเป็นอยู่ของชาวอีบัน เพราะก็ไม่น่าเชื่อว่าหลายครอบครัวนั้นหรือทั้งหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ มาอยู่รวมกันภายใต้บ้านหลังเดียว



นอกจากนี้แล้ว ที่น่าสนใจก็คือ ไก่ตัวผู้จะมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมของชาวีบันมาก มักจะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรดระหว่างเตรียมลงสนามครั้งแรก เพราะการชนไก่ ผู้ชายจะนิยมชนได้เพื่อฆ่าเวลา โดยครั้งแรกนั้นผู้ชายจะหมั่นเล่นกับมัน โดยนำไปซ้อมชนกับไก่ของเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ติดเดือยแหลมคมที่นิ้วตีนหลัง เพราะเก็บไว้ใช้ในการต่อสู้ เดือยอาจทำให้คู่ต่อสู้ที่อ่อนแอกว่าตายได้ในไม่กี่นาที ก่อนการต่อสู้ บางครั้งจะให้ไก่กินหยด ตูวะก์ (เหล้านั่นเอง)เล็กน้อย เพื่อให้มีพลังฮึกเหิม ไก่ตัวผู้และลูกไก่ยังมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ การบูชายัญลูกไก่เป็นเรื่องธรรมดา และเชื่อว่าลูกไก่ตัวผู้สีขาวมีพลังลึกลับ ซึ่งก็คล้ายกับวัฒนธรรมอื่นๆทั่วโลก และในพิธีกรรมต่างๆ เช่น กรณีคนป่วยหรือถูกผีเข้าก็จะมีการเซ่นไก่ แล้วนำเลือดซึ่งถือว่าบริสุทธิ์มาพรมใส่ผู้ป่วย ในกรณีที่ไม่ร้ายแรงมากนักก็จะนำไก่ที่มีชีวิตมาโบกเหนือร่างคนป่วยหรือเหนือจานของในถวายพิธี







"การแสดงของนักรบชาวอีบันแด่นักท่องเที่ยว"





จากนักรบไล่ล่าหัวมนุษย์


กลายมาเป็นไล่ล่าเงินตราจากนักท่องเที่ยว


เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมทั้งหลายได้เริ่มหมดไป รัฐซาราวัก (Saravak) ในบอร์เนียวมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ขณะที่คนตัดไม้ขยับไปเข้าไปในป่าลึกขึ้น มีการเข้าถึงป่าลึกมืด ความลี้ลับของป่าก็หมดไป หรือเร็วไปได้ถึงถิ่นฐานห่างไกลรวมถึงบ้านเรือนยาวของชาวอีบันด้วย การเดินทางที่เคยกินเวลาหลายสัปดาห์ที่ต้องฝ่าสายน้ำเชี่ยว ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงด้วยเรือยนต์กำลังแรงตะลุยทวนน้ำ


ขณะที่ยุคของนักล่าหัวได้หมดสิ้นไปนานแล้ว แต่ธรรมเนียมแห่งการเอื้อเฟื้อของซาราวัก (Sravak) ก็ยังคงดำรงอยู่ และแม้ระยะเวลาเปลี่ยนแปลงไป รัฐที่ใกล้เคียงกับซาราวัก (Saravak) ที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน โดยๆได้มีประวัติเกี่ยวพันกับอังกฤษเหมือนกันแต่ก็มีพัฒนาการแตกต่างกัน โดยที่รัฐอื่นนั้นมีทัศนคติต่อชนพื้นเมืองในลักษณะที่คำนึงถึงความเป็นจริงมากกว่าจะฝันหวาน ส่วนชาวซาราวัก (Saravak) จะให้เกียรติในเรื่องวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน แต่ก็คำนึงถึงชาวบ้านรอบข้างด้วย ผลก็คือชาวซาราวัก (Saravak) สมัยนั้นยังคงมีเอกภาพทางวัฒนธรรมและภูมิใจในประเพณีของตน แต่เมื่อโดนสังคมแบบทุนนิยมที่เป็นโรคระบาดในขณะนี้ จากที่ทำสงครามเอาตัวรอด เป็นนักล่าที่กล้าหาญเข้มแข็ง ก็ต้องยอมจำนนกับทุนนิยมต่างๆ ถึงแม้วัฒนธรรมของชาวซาราวัค (Saravak) จะไม่ถูกทำลายลงไปด้วย แต่วัฒนธรรมเหล่านั้นก็เป็นเครื่องมือยังชีพในสังคมของพวกเขา และใช้วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของเค้านั้นมาเป็นจุดขายเรียกเงินจากนักท่องเที่ยวได้มากโข รวมถึงมรดกอันเก่าแก่โบราณของบ้านเมืองตนเองก็ต้องนำมาเป็นจุดขายเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งจากสังคมที่อยู่ในป่าเป็นนักล่าไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่โลกวัตถุนิยมผลิตหรือสร้างขึ้นเพื่อสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ขึ้นทำให้การแข่งขันในสังคมก็ต้องถีบตัวสูงขึ้น ดังนั้น จากที่เป็นถูกไล่ล่ามาก่อนก็กลายมาเป็นผู้ถูกล่าบ้าง โดนทุนนิยมไล่ล่าและเพื่อความอยู่รอดของเผ่าตนทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องนำมาขายเพื่อเป็นทุนยังชีพ และต้องบริโภคนิยมตามกระแสสังคมภายนอกมาด้วย ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ในบ้านเรือนยาวนั้นผนังที่เคยซีดจางของตระกูลบรูคและพระราชินีอลิซาเบธที่2 ปัจจุบันกลายเป็นประดับรูปสีของนางงาม รถแข่ง และดารายอดนิยมที่ตัดจากนิตยสาร ชาวอีบันส่วนมากที่เคยนับถือภูตผีก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ จากที่ตอนเย็นเคยท่องคาถาประจำเผ่าและทำพีบูชายัญ ก็หันมาสวดมนต์ร่วมกับเด็กๆ ซึ่งเคยสนุกสนานในนาข้าวตามสบายทั้งวัน ก็ต้องมาหมกตัวอยู่ในโรงเรียน เล่าเรียนภาษามาเลเซียและฟิสิกข์ และการทำพิธีการละเล่นในปัจจุบัน ก็กลายมาเป็นการแสดงบนเวทีให้นักท่องเที่ยวชมและถ่ายรูป รวมถึงการแต่งกายของนักรบชาวอีบัน ซึ่งแต่ก่อนนั้นน่าเกรงขามมากและพร้อมที่จะไล่ล่าอยู่เสมอ ก็กลับกลายเป็นเพียงแต่งเพื่อให้ท่องเที่ยวถ่ายรูป ( ซึ่งก็ขอบคุณที่เลิกตัดหัว มิฉะนั้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวเสียวสันหลัง ว๊าบ ! ไปเลยเหมือนกัน ) แม้แต่บ้านเรือนยาวส่วนหนึ่งก็ยังโดนนำมาดัดแปลงเป็นเรือนพักสำหรับนักท่องเที่ยวและตกแต่งเพื่อให้น่าอยู่และเอาใจลูกค้า และมีบ้านพัก โฮม สเตย์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะลองสัมผัสการกินอยู่แบบวิถีชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม ก็กลายเป็นธุรกิจทางเลือกหนึ่งที่เอาใจนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจิตวิญญาณของชุมชนนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แต่เพียงแต่จิตวิญาณเหล่านั้นถูกขายไปเพื่อการยังชีพอยู่ในสังคมสมัยใหม่และบริโภคที่นิยมได้เหมือนกับสังคมอื่นๆทั่วไป



เดี๋ยวนี้ถ้าเราอยากจะเดินทางไปซาราวัก (Saravak) ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะถ้าอยากจะไปดูวัฒนธรรมดั้งเดิมล่ะก็ เพียงนั่งเครื่องจากมาเลเซียต่อไปที่เกาะบอร์เนียว เพียงชั่วโมงเดียว หรือไม่ อาจจะนั่งเครื่องจากประเทศไทยไปก็ได้ การเดินทางสมัยนี้แทบไม่ยุ่งยากอะไรเลย เพราะเมืองหลวงของ ซาราวัก (Saravak) นั้น ตอนนี้ มีทางเลือกให้คุณเลือกพักได้มากมายเพราะจัดได้ว่าเป็นเมื่อใหญ่ที่เจริญหูเจริญตาด้วยความทันสมัยมากเลยทีเดียว แถวยังค่าครองชีพสูงอีกด้วยทำให้ผู้เขียน คิดว่า แสดงว่าเมืองนี้ต้องเศรษฐกิจไปค่อนข้างดีแน่ๆ เพราะไม่รู้ประชาขนที่นี่จับจ่ายใช้สอยสินค้าแพงๆเหล่านี้ได้อย่างไร


ลงในมหาประชาชนสุดสัปดาห์ ในคอลัมภ์"ห้วงเวลาอุษาคเนย์"


วันที่ 2-8 พฤศจิกายน 2550