Wednesday, March 28, 2012

"Can Cau" ตลาดวัฒนธรรมของม้งดอกไม้ที่ "Bac Ha" ประเทศเวียดนาม

 บทความท่องเที่ยวนี้ปรับชื่อเรื่องจากชื่อเรื่อง "ตลาดวัฒนธรรมชนเผ่าที่ "บั๊ค ฮา" (Bac Ha) ประเทศเวียดนาม นำมาดัดแปลงชื่อเรื่องนิดหน่อย เนื่องจากกำลังจะไปอีกครั้ง จึงโหยหาอดีตเอาบทความที่เคยเขียนไว้และถูกตีพิมพ์ไปแล้วเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วในนิตยสารท่องเที่ยว เลยนำกลับมา rewrite อีก

บั๊ค ฮา เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับชายแดนของประเทศจีนด้วย เนื่องจากความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 เมตร ทำให้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี มีประชากรราว ๆ 70,200 คน และเป็นแหล่งที่ประชากรส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกด้วย และตอนนี้ก็ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกจากเมืองซาปาไปแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะเคยไปท่องเที่ยวที่ซาปา และเคยได้ยินชื่อมาบ้างแล้ว ด้วยความที่เป็นเมืองวัฒนธรรมที่ยังงดงามของชาวบ้าน จึงสามารถเป็นแรงจูงใจให้คนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างเดินทางมาเพื่อเรียนรู้ ชื่นชมหรือหาประสบการณ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากโรงแรมและเกสเฮาส์ที่กำลังเปิดตัวหลายแห่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยการมาเที่ยวที่บั๊ค ฮานั้น ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะซื้อทัวร์มาเป็นแพ็คเกจทัวร์ซึ่งมีอยู่มากมายตั้งแต่ราคา 10 ดอลลาร์ต่อคน ขึ้นไป (อันนี้ต้องดูดี ๆ เรื่องราคาถ้าไม่มีปากมีเสียงราคาอาจจะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ) โดยส่วนมากทัวร์จะโฆษณาชวนเชื่อ แบบว่าพาไปถึง 3 ตลาด ก็จะทำให้เรางงว่าทำไมวันเดียวจึงพาไปเที่ยว 3 ตลาด ซึ่งก็มีตลาดแคนเคา ตลาดค็อคลี และตลาดบั๊ค ฮา แต่จริง ๆ แล้ว ชื่อตลาดเหล่านี้ที่กล่าวมาก็คือตลาดเดียวกันนั่นเอง ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากงงไปตาม ๆ กัน แต่ในที่นี่ขอเรียกตลาด แคนเคา แต่ก็ไม่สำคัญเท่า เมื่อมาถึงตลาดวัฒนะรรมชนเผ่าที่ดูสะดุดตานักท่องเที่ยวนี้ก็จะลืมเรื่องที่ชวนงงของ 3 ตลาดในทันที

เมื่อก่อนวันรอาทิตย์จะเป็นวันที่มีสีสันที่สุดในรอบสัปดาห์ของตลาด แต่เดี๋ยวนี้ตลาดจะเปิดทุกวันเสาร์ หรือบางครั้งก็เปิดทั้งสองวัน (ไม่ได้ไปนานแล้ว) เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ จะเดินทางลงมาจากเขาเพื่อเลือกซื้อข้างของไปใช้ โดยวิธีการใช้ม้าเป็นพาหนะ ซึ่งสามารถเห็นลานจอดม้าอยู่ทางเหนือของตลาดได้เลย ซึ่งจะคล้าย ๆ กับลานจอดรถของคนเทืองเลยทีเดียว(ประหยัดน้ำมันอีกต่างหาก) รวมถึงมีรูปแบบการใช้งานม้าที่หลากหลาย มีทั้งแบบรถลากเลื่อนใช้งานได้เยอะ และนั่งแบบส่วนบุคคล ทำให้เชื่อกันไหมว่า ชาวเขาที่เดินทางด้วยม้าลงมาขายของและมาซื้อของกลับหมู่บ้าน จูงวัวจูงม้ามาประมูลกันไป-กลับใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงในการเดินทาง (ทรหดมาก) ส่วนทางเข้าตลาดอยู่บริเวณสี่แยก เมื่อเดินเข้าไปข้างในจะมีสินค้าร้านจำหน่ายของต่าง ๆ มากมายทั้งที่เป็นของนำเข้ามาขายกันเองและของที่คนเมืองจำมาจำหน่าย

สินค้าที่น่าเลือกซื้อมากที่สุดคงจะเป็นผ้าทอมือ ซึ่งมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์มาก และมีจำหน่ายอยู่หลายร้าน ส่วนร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็น เฝอหรือก๋วยเตี๋ยว ที่สามารถสั่งให้ใส่กับอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม เครื่องในหมู เป็นต้น ราคาก็ไม่แพงและมีให้เลือกกินหลายร้าน จำพวกขนมก็มีให้ชิมกันหลายแบบ ซึ่งรสชาติก็เข้าท่าไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ตามซอยก็จะมีร้านเหล้ากลั่นของหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาให้เลือก ซึ่งเมืองบั๊ค ฮา เป็นเสมือนโรงงานผลิตสุรากลั่นขนาดย่อม เพราะว่ามีจำหน่ายกันอย่างมโหฬาร ทั้งเหล้าข้าวเหนียว เหล้าข้าวโพด แม้กระทั่งมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่จะรสชาติดี กลิ่นหอม แต่ดีกรีก็แรงมากถึงมากที่สุด เพียงสองสามจิบอ่าจจะถึงกับล้มตึง(ตามความสามารถของผู้กิน) ราคาก็ไม่แพงมาก หากให้เดินชิมจริง ๆ ก็มีให้ลิ้มลองมากมาย และรับประกันว่าหากได้ชิมไปถึงกลางซอยต้องเดินเซอย่างแน่นอน(เพราะเคยเซมาแล้ว) อีกอย่างที่พลาดไม่ได้ในเรื่องของการเดินตลาดสดในเวียดนาม ก็คือ "ผัก" เพราะคนเมืองนี้รับประทานผักเก่งมาก และยังมีผักคุณภาพดีอีกมากมายอีกด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวเขานำผักสวนครัวมาขายกัน แม้จะคนละไม่เยอะแต่พอมารวม ๆ กันก็มากมายมหาศาลเลยทีเดียว ทั้งนี้ยังมีผลไม้อีกหลายชนิดที่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจสุดน่าจะเป็น "อ้อย" เพราะส่วนใหญ่จะเห็นถือกันคนละลำ ๆ พอเห็นภาพเด็ก ๆ ยินแทะอ้อยกันเยอะ ๆไ ก็ดูน่ารักดีจริง ๆ (ฟันแข็งแรงกันจัง"

เมื่อชมตลาดชาวบ้านแล้ว การแต่งกายแบบประจำกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองจะมีสีสันโดดเด่นสะดุดตา จนทำให้มีฉายาจากนักท่องเที่ยวเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เรียกว่า "ม้งดอกไม้" หรือ "Flowery Hmong" ภายในบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านเหมาะสมอย่างยิ่งที่นักเดินทางควรสัมผัสกับวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยระยะทางราว ๆ 3 กิโลเมตร ซึ่งจะผ่านชั้นบันไดสวย ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวันอากาศดี ๆ สามารถเลือกมุมถ่ายรูปสวย ๆ ได้เยอะเลยทีเดียว ซึ่งจากความงดงามของวิถีชีวิตแบบกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ตลาด แคนเคา มีชื่อเสียงไปไกลทุกมุมโลก จนนักเดินทางหลายคน(รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ต้องมีที่นี่เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางในการมาเยือนภาคเหนือของเวียกนาม ซึ่งวัฒนธรรมที่งดงามเหล่านี้คงอยู่ไปอีกนาน เพราะมันได้กลายวัฒนธรรมสินค้าที่ดึงดูดนักท้องเที่ยวและเชิญชวนให้มาเยือนอีกมากมาย เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงหรือรื้อฟื้นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองขึ้นมากในรูปแบบใดที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนในอิ่มเอมใจกลับไป ฉะนั้นความสวยงามที่ถูกคาดหวังที่จะดำรงอยู่ได้นาน อาจจะมีการปรับตัวและเปลียนแปลงเพื่อให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมในปัจจุบัน

ความรู้สึกของผู้เขียนกับการมาเยือนตลาดแห่งนี้ครั้งแรกในสายตาของนักท่องเที่ยว ถือว่าเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจในฐานะสายตาของคนนอก เมื่อกาลเวลาผ่านไปเวลากลับไปอีกครั้งและมองด้วยสายตาแบบนักมานุษยวิทยา ก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปอาจจะลดความตื่นตาตื่นใจ แต่เปลี่ยนเป้าหมายไปไปจับจ้องที่การเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม และการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ นี่ก็ถือเป็นการแนะนำเริ่มต้นถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่ให้ความรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้น่าไปและน่าไปสัมผัสบรรยากาศดูสักครั้ง แต่หากรู้ถึงวัฒนธรรมที่ลึกลงไป อาจจะทำให้หลายคนมีความสนใจมากกว่าที่จะตื่นตาตื่นใจกับการแต่งงานและเลือกซื้อสินค้าทางวัฒนธรรม นอกจากการมองทัศนียภาพที่สวยงามภายนอกอย่างผิวเผิน กลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองบั๊ค ฮา ส่วนมากจะเป็นกลุ่ม "ม้งดำ" และ "ม้งแดง" รวมถึงพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการบูชายัญควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของ "วิญญาณ"เจ้าแห่งแม่น่้ำ หรือธรรมชาติ โดยจะมีเพลงและเครื่องดนตรีพิเศษในการทำพิธีกรรมของพวกเขาคือ กลองใหญ่ รวมถึง น้ำ ควายและกระดูกควาย เพื่อใช้ในพิธีกรรมบูชายัญแบบเสร็จสำบูรณ์ ส่วนอัตลักษณ์ของการแต่งกายและลายผ้าที่สวยงามที่เราเห็นภาพนั้น เนื้อผ้าก็จะมีลักษณะที่หนาเหมาะแก่การสวมใส่กันหนาวได้ในภูมิประเทศเขตอาหาศหนาว ๆ แบบ บั๊ค ฮา ส่วนลวดลายของผ้านั้น ก็จะเป็นรูปทรงเรขาคณิต แบบสีสันตาราง ๆ ที่เห็นกันในภาพ รวมถึงลวดลายของนกและดอกไม้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แสดงออกในลายผ้าก็มาจากสัตว์และสีสันทางธรรมชาติของสภาพแวดล้อมในบั๊ค ฮา นั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีพิธีกรรมทางการเกษตรกรรมของพวกเขาโดยการเปลี่ยนหน้าดินโดยการเผาแปลงพื้นที่ทางการเกษตรและริเริ่มปลูกซ้ำใหม่อีกรอบหนึ่ง หรือที่เรียกว่า การทำไร่เลื่อนลอย(Shifting cultivation) โดยพืชที่ได้รับความนิยมในการปลูกก็คือข้าวโพด

แต่พอมองย้อนกลับไปหากเราได้มีโอกาสไปเที่ยวสถานที่ดังที่ผู้เขียนกล่าวแนะนำมานี้ เวลาที่เราไปซื้อของบางครั้ง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบท้องถิ่น ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการศึกษามากมาย แต่ทำไมขายของพูดจาดูฉลาดมากนัก บางครั้งก็ขายสิ่งของเกินราคาไปจริง ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเวลาไปซื้อของทั้งที ก็ควรระวังตัวและรอดูชาวบ้านเขาซื้อเขาจ่ายตังก่อน ถ้าหากซื้อในราคาบอกผ่านของชาวบ้าน ก็อาจจะถึงกับอึ้งและหมดอารมณ์ำไปเลยทีเดียว เพราะเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป มีสภาพแวดล้อมหรือสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาที่นี่ ชาวบ้านเองก็ต้องปรับตัวเพื่อสู้กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย คือ ต้องใช้ชีวิตส่วนหนึ่งหาเลี้ยงชีพกับชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวอย่างพวกเรา ๆ ส่วนในพื้นที่บั๊ค ฮา นั้น ในทุก ๆ หมู่บ้านจะมีโรงเรียนแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีหมู่บ้านเล็ก หมู่บ้านใหญ่ เด็กส่วนมากจะสนใจเรียนกันทุกคน โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ พวกผู้ใหญ่ที่พูดได้ก็พยายามถ่ายทอดและสอนกันเองในหมู่บ้าน (แม้วบางคนพูดภาษาอังกฤษไฟแล๊บ ถึงขนาดภาษาอังกฤษของผู้เขียนต้องเรียกได้ว่าอายแม๊วเลยทีเดียว) เพราะว่าเวลาเดินไปไหนก็ตาม เราจะได้เห็นเด็กชาวเขาตัวเล็ก ๆ ทักทายเป็นภาษาอังกฤษตลอดทาง และทุกหมู่บ้านนั้นก็จะมีโรงเรียนประถมดี ๆ มากมาย อาคารส่วนมากก็เป็นอาคารมาตรฐานของโรงเรียนประถมในหมู่บ้านชาวเขา บางหมู่บ้านมีมากกว่า 1 แห่ง ไม่ต้องมี ต.ช.ด. มาสอน หรือต้องจูงนักเรียนมานั่งผิงไฟตากแดดเหมือนบ้านเรา แต่ผลลัพธ์ก็คล้ายคลึงกัน คือมีโรงเรียน แต่ไม่มีนักเรียน เพราะชาวเขาส่วนมาก ไม่ว่าชาติไหน ๆ ก็ไม่นิยมให้ลูกเรียนหนังสือมากนัก เพราะอยากจะเก็บลูกไว้ใช้งานบ้านมากกว่า แต่ถึงกระนั้น เวียดนามก็จัดได้ว่าการศึกษาก้าวหน้ากว่าประเทศไทยเสียอีก แถมมีคนจบปริญญาเอกมากกว่าเมืองไทยเสียด้วย

บางครั้งวัฒนธรรมที่สวยงามของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในบั๊ค ฮา อาจจะดูสวยงาม และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว แต่วัฒนธรรมเหล่านี้ที่คงอยู่ได้ ก็คงเพราะนักท่องเที่ยวอีกเช่นกัน เพราะก็ถือว่าความสวยงามเหล่านี้ก็เป็นจุดขาย และเป็นเครื่องมือยังชีพของชาวบ้าน และนายทุน เจ้าของทัวร์ที่มาหาผลประโยชน์กำไรจากการจัดทัวร์ พาท่องเที่ยว ทำให้มองได้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้อาจจะอนุรักษ์ไว้ในเชิงท่องเที่ยวมากจะจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งสังเกตได้ จากที่นักท่องเที่ยวส่วนมากเดินทางไปท่องเที่ยว นักวิจัย นักวิชาการที่เดินทางไปสังเกตการณ์ ศึกษาวัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่ความจริงแล้วชาวบ้านเองก็เป็นผู้สังเกตเราเองเช่นกัน ภายใต้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามตามวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อม่ี่ยังอนุรักษ์อยู่ให้เห็น แต่เราไม่สามารถรู้ว่า ความคิดและจิตใจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งใน บั๊ค ฮา นั้นจะยังคงเดิมและยึดมั่นในตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาหรือปล่าว?




No comments: